Cr. ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 17 สิงหาคม 2566
บริษัท กรุงไทยคาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส หรือ KCAR ลุยตลาดรถเช่า-รถมือสองรถยนต์ไฟฟ้าอีวี ย้ำมาร์จิ้นดีกว่ารถสันดาป ตั้งรายได้ปี’66 ที่ระดับ 2 พันล้านบาท ประเมินตลาดรถเช่ายังโตต่อ เหตุพฤติกรรมธุรกิจหันมาเช่ารถแทนมากขึ้น หนุนตลาด พร้อมตั้งเป้าขายรถมือสองโต 10% เล็งอีก 1-2 เดือนทยอยปล่อยรถอีวีขายหลังมีรถครบสัญญาเช่า
นายพิชิต จันทรเสรีกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงไทยคาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส หรือ KCAR เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจสัญญารถยนต์เพื่อดำเนินงาน (Operating Lease) มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 5-10 ปี และผู้เล่นในตลาดราว 20 ราย และเป็นรายใหญ่ ซึ่งในปี 2565 ภาพรวมอาจจะหดตัวเล็กน้อย 2-3% เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังไม่ดีมาก ทำให้ลูกค้าต่อสัญญาน้อยลง หรือเช่ารถในจำนวนที่ลดลง เช่น จากเดิมเคยเช่ารถ 100 คัน เหลือ 90 คัน และเปลี่ยนรูปแบบในการเช่ามาเป็นการใช้รถร่วม อาทิ ภาคโลจิสติกส์ เป็นต้น ตลอดจนยืดขยายสัญญาเช่าออกจากเดิม 3 ปี เป็น 5 ปี ทำให้ภาพรวมตลาดหดตัว
สำหรับ KCAR ปัจจุบันมีจำนวนรถที่ปล่อยเช่าอยู่ที่ประมาณ 9,000 คัน และมีฐานลูกค้าบริษัทจำนวน 1,200 บริษัท แบ่งเป็น บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ราว 85% และอีกประมาณ 15% เป็นหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ โดยบริษัทมีส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ราว 5-7% จากมูลค่าสินทรัพย์รวม ณ สิ้นปี 2565 อยู่ที่ 5,393 ล้านบาท โดยในปีนี้ 2566 บริษัทตั้งเป้าการเติบโตทรงตัว
โดยในปี 2566 บริษัทตั้งเป้างบประมาณ 1,000 ล้านบาท ในการซื้อรถใหม่ และค่าบริหารจัดการ เนื่องจากในแต่ละปีจะมีรถที่ครบอายุสัญญาประมาณ 1,200-1,500 คัน และบริษัทจะมีการซื้อรถยนต์ใหม่มาทดแทนให้เช่าราว 1,500 คัน โดยในช่วง 6 เดือนแรกปล่อยไปแล้ว 500-600 คัน
อย่างไรก็ดี บริษัทได้เริ่มขยายธุรกิจไปให้บริการเช่ารถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีเพียงประมาณ 100 คัน และปล่อยเช่าแล้วราว 40-50 คัน ถือว่าค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณรถที่ปล่อยเช่าทั้งหมด 9,000 คัน แต่ยอมรับว่าในหลักการทำรถ EV ควรจะมีอัตรากำไร (มาร์จิ้น) มากกว่ารถยนต์สันดาป แต่ทั้งนี้ อาจจะต้องติดตามว่าค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงจะเป็นอย่างไร และที่สำคัญคือราคาขายมือสองจะมากน้อยเพียงใด
“รถ EV เราเพิ่งเริ่มทำ เพื่อไม่ให้ตกขบวน ทำเพื่อศึกษาและทดลอง R&D ซึ่งอีก 1-2 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะมีรถ EV ขายเป็นมือสองได้ เพราะเริ่มครบสัญญาบ้างแล้ว คาดว่าราคาขายรถมือสองน่าจะดรอปลงประมาณ 20% จากราคารถมือใหม่ เพราะตอนนี้ซัพพลายไม่เยอะ อย่างไรก็ดี หัวใจหลักของธุรกิจปล่อยรถเช่าต้นทุนที่แพงที่สุด คือ ค่าเสื่อม ซึ่งเราไม่รู้ว่า EV ค่าเสื่อมหรือซากจะอยู่ที่เท่าไร”
สำหรับธุรกิจขายรถยนต์มือสอง พบว่า รถยนต์มือสองประมาณ 70% จะมาจากธุรกิจรถเช่าของ KCAR โดยปีนี้ตั้งเป้าเติบโตประมาณ 10% ถือว่าค่อนข้างท้าทาย เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว สถาบันการเงินเข้มการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงปริมาณรถที่ถูกยึดเริ่มเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2565 ซึ่งคาดว่าปีนี้จะเห็นรถที่ถูกยึดถึงประมาณ 5 แสนคัน สูงกว่าระดับปกติที่ราว 2-3 แสนคันต่อปี แต่เชื่อว่าธนาคารจะมีการประนอมหนี้มากขึ้น
โดยปัจจัยดังกล่าวทำให้ราคารถยนต์มือสองเฉลี่ยลดลงจากปีก่อน เช่น รถมือสองบางรุ่นลดลงจาก 3.3-3.4 แสนบาท เหลืออยู่ที่ 2.7 แสนบาท ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ราคาขายรถมือสองที่ลดลงส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาขายเมื่อปีก่อนที่พุ่งขึ้นไปสูงกว่าระดับปกติ ส่วนหนึ่งราคารถยนต์มือสองจะแปรผันตามปริมาณรถยนต์ใหม่ที่ออกสู่ตลาดด้วย
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้ารายได้ในปี 2566 อยู่ที่กว่า 2,000 ล้านบาท ทรงตัวจากปีก่อนที่ทำได้ 2.28 พันล้านบาท โดยรายได้จากการปล่อยเช่ารถยนต์ยังคงเป็นสัดส่วนหลักประมาณ 59% และรายได้จากการขายรถยนต์มือสองอยู่ที่ 39% ของรายได้ทั้งหมด
“ตั้งแต่บริษัทเราเข้าจดทะเบียนในตลาดเมื่อปี 2548 บริษัทไม่เคยขาดทุนแม้แต่ปีเดียว เพราะเราดำเนินนโยบายที่เน้นบริหารองค์กรแบบสมดุล และค่อนข้างอนุรักษนิยม มีการทำงานร่วมกับพันธมิตรที่ครบวงจร และมีการคัดกรองลูกค้าให้ตรงกับสไตล์ของไฟแนนซ์ เราจะไม่ช่วยลูกค้าแต่งตัว ทำให้ยอดการปฏิเสธสินเชื่อจึงค่อนข้างมากตามคุณสมบัติ”