นโยบายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น

 

ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1

 

บริษัท กรุงไทยคาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส จำกัด(มหาชน) (บริษัทฯ) ตระหนักถึงความสำคัญของหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี  โดยยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใสเป็นธรรม  รับผิดชอบและระมัดระวังภายใต้กฎหมายระเบียบข้อบังคับและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย ในปี 2558 บริษัทฯ จึงได้เข้าร่วมใน “แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทย ในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น” เพื่อแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการต่อต้านคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบ

                เพื่อให้มั่นใจว่า บริษัทฯ มีนโยบายการกำหนดความรับผิดชอบ แนวปฏิบัติ และข้อกำหนดในการดำเนินการที่เหมาะสม เพื่อป้องกันคอร์รัปชั่นกับทุกกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัทฯ และเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านการทุจริตคอร์รัปชั่น บริษัทฯ จึงได้จัดทำ “นโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น” เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนในการดำเนินธุรกิจ และพัฒนาสู่องค์กรแห่งความยั่งยืน

             

นโยบายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น

 

ห้ามมิให้กรรมการ  ผู้บริหารและพนักงานของบริษัท  ยอมรับการทุจริตทุกรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อมได้แก่การรับสิ่งของ ของขวัญ การเลี้ยงรับรอง เงินเรี่ยไร  เงินบริจาคและผลประโยชน์อื่นใด ให้แก่ตนเองจากบุคคลที่ทำธุรกิจกับบริษัท ให้ครอบคลุมถึงพนักงาน  คู่ค้า  ลูกค้า  และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มทั้งในประเทศและต่างประเทศ  และจัดให้มีการสอบทานการปฏิบัติงานตามนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง 

 

  1. คำนิยาม

                คอร์รัปชั่น (Corruption) หมายถึง การติดสินบนไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดๆ โดยการเสนอให้ สัญญา มอบให้ ให้คำมั่น เรียกร้อง หรือรับ ซึ่งเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งไม่เหมาะสมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเอกชน หรือผู้มีหน้าที่ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้บุคคลดังกล่าวกระทำหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นการให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งธุรกิจ หรือแนะนำธุรกิจให้กับบริษัทโดยเฉพาะ หรือเพื่อให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์อื่นใดที่ไม่เหมาะสมทางธุรกิจ เว้นแต่เป็นกรณีที่กฎหมาย ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ ขนบธรรมเนียม ประเพณีของท้องถิ่น หรือจารีตทางการค้า ให้กระทำได้

 

คำนิยาม “การให้สินบน”:   หมายถึง การเสนอให้หรือรับสิ่งของ   ของขวัญ  รางวัล หรือผลประโยชน์อื่นใดให้แก่ ตนเอง หรือจากบุคคลซึ่งต้องการให้โน้มน้าวให้กระทำการบางอย่างที่ไม่สุจริต  ผิดกฎหมายหรือผิดจรรยาบรรณของบริษัทฯ

 

คำนิยาม “การให้สิ่งของหรือประโยชน์อื่นใด”หมายถึง การให้สิทธิพิเศษในรูปของเงิน ทรัพย์สิน  สิ่งของ หรือประโยชน์อื่นใด เพื่อเป็นสินน้ำใจ เป็นรางวัล หรือเพื่อการสร้างสัมพันธภาพที่ดี

 

  1. หน้าที่ความรับผิดชอบ

 

2.1     คณะกรรมการบริษัท

มีหน้าที่และรับผิดชอบในการกำหนดนโยบาย และกำกับดูแลให้มีระบบที่สนับสนุนการต่อต้านคอร์รัปชั่นที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าฝ่ายบริหารได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการต่อต้านคอร์รัปชั่น และปลูกฝังจนเป็นวัฒนธรรมองค์กร

2.2     คณะกรรมการตรวจสอบ

มีหน้าที่และรับผิดชอบในการสอบทานระบบรายงานทางการเงินและบัญชี ระบบควบคุมภายใน ระบบตรวจสอบภายในและระบบบริหารความเสี่ยงให้มั่นใจว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากล มีความรัดกุม เหมาะสม ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ

2.3      กรรมการผู้จัดการ คณะจัดการ และผู้บริหาร

มีหน้าที่และรับผิดชอบในการกำหนดให้มีระบบส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นเพื่อสื่อสารไปยังพนักงานและผู้เกี่ยวข้องรวมทั้งทบทวนให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไปได้แก่สภาพธุรกิจระเบียบข้อบังคับและข้อกำหนดของกฎหมายต่างๆเป็นต้น

2.4     เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายใน

มีหน้าที่และรับผิดชอบในการตรวจสอบและสอบทานการปฏิบัติงานว่าเป็นไปอย่างถูกต้องตรงตามนโยบายแนวปฏิบัติอำนาจดำเนินการระเบียบปฏิบัติและกฎหมายข้อกำหนดของหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อให้มั่นใจว่ามีระบบควบคุมที่มีความเหมาะสมและเพียงพอต่อความเสี่ยงด้านคอร์รัปชั่นที่อาจเกิดขึ้นและรายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบ

2.5     กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน

ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนดไว้ในนโยบายฉบับนี้และในกรณีที่พบเห็นการกระทำอันเป็นที่ฝ่าฝืนนโยบายฉบับนี้จะต้องรีบรายงานต่อผู้บังคับบัญชา หรือผ่านช่องทางการรายงานที่กำหนดไว้ตามนโยบายฉบับนี้

 

  1. แนวทางการปฏิบัติเพื่อป้องกันและต่อต้านการคอร์รัปชั่น

 

  • กรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับ ต้องปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชั่นและจรรยาบรรณ โดยต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชั่น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
  • พนักงาน ไม่พึงละเลย หรือเพิกเฉย เมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ ต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชา หรือบุคคลที่รับผิดชอบทราบ และให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ หากมีข้อสงสัย หรือข้อซักถามให้ปรึกษากับผู้บังคับบัญชา หรือบุคคลที่กำหนดให้ทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการติดตามการปฏิบัติตามจรรยาบรรณ ผ่านช่องทางต่างๆที่กำหนดไว้
  • ต้องไม่มีผลประโยชน์ทั้งทางตรงและแอบแผง ทั้งส่วนตน ครอบครัว และพวกพ้องกับบริษัท เช่น กระทำการใด ๆ เพื่อขายสินค้าและบริการให้กับบริษัท หรือแข่งขันกับบริษัท
  • บริษัทฯ จะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองพนักงานที่ปฏิเสธหรือแจ้งเรื่องคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัทโดยใช้มาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียนหรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการรายงานการทุจริตคอร์รัปชั่น
  • บริษัทจัดให้มีการควบคุมภายในที่เหมาะสม สม่ำเสมอเพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานมีการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะงานขาย การตลาด จัดซื้อ
  • ผู้ที่กระทำคอร์รัปชั่นเป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณของบริษัทฯซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาทางวินัยตามระเบียบที่บริษัทฯ กำหนดไว้นอกจากนี้อาจจะได้รับโทษตามกฎหมายหากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย
  • บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญในการเผยแพร่ให้ความรู้และทำความเข้าใจกับบุคคลอื่นที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับทางบริษัทฯหรืออาจเกิดผลกระทบต่อบริษัทฯ ในเรื่องที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น
  • บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะสร้างและรักษาวัฒนธรรมองค์กรที่ยึดมั่นว่าคอร์รัปชั่นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ทั้งการทำธุรกรรมกับภาครัฐและภาคเอกชน

   

  1. นโยบายการจ่ายและรับเงินที่เกี่ยวกับค่าของขวัญ ค่าบริการต้อนรับ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ

 

บริษัทฯ ตระหนักดีว่า การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพันธมิตรทางธุรกิจเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จอย่างต่อเนื่องของบริษัทพนักงานสามารถให้ หรือรับของขวัญ(Gifts) และ/หรือค่าบริการต้อนรับ (Hospitality) และ/หรือในรูปค่าใช้จ่ายอื่น (Others) แก่/จากบุคคลใดๆ ได้ หากเข้าเงื่อนไขทุกข้อ ดังต่อไปนี้

  • ไม่เป็นการกระทำโดยตั้งใจเพื่อครอบงำชักนำ หรือตอบแทนบุคคลใดๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งความได้เอาเปรียบใดๆ ผ่านการกระทำไม่เหมาะสม หรือเป็นการแลกเปลี่ยนอย่างชัดเจนหรือแอบแฝงเพื่อให้ได้มาซึ่งการช่วยเหลือหรือผลประโยชน์
  • เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  • เป็นการให้ในนามบริษัท ไม่ใช่ในนามของพนักงาน
  • ไม่เป็นของขวัญ ที่อยู่ในรูปของเงินสดหรือสิ่งเทียบเท่าเงินสด (เช่น บัตรของขวัญ หรือบัตรกำนัล)
  • เหมาะสมกับสถานการณ์เช่น การให้ของขวัญ เล็กๆ น้อยๆ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ตรุษจีนหรือปีใหม่ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปกติ
  • ประเภทและมูลค่ามีความเหมาะสม และมอบให้ถูกต้องตามวาระโอกาส  เช่น ในกรณีที่บริษัทอยู่ระหว่างจัดให้มีการประกวดราคา พนักงานจะต้องไม่รับของขวัญ หรือค่าบริการต้อนรับจากบริษัท ที่เข้าร่วมการประกวดราคานั้น
  • เป็นการให้อย่างเปิดเผยไม่ปกปิด โดยพนักงานสามารถรับของขวัญ ตามแนวปฏิบัติ …ซึ่งมีมูลค่าได้ไม่เกิน 500 บาท ในกรณีที่ไม่สามารถปฏิเสธและจะต้องรับของขวัญซึ่งมีมูลค่าเกินกว่า 500 บาท ต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบโดยใช้แบบรายงานการรับของขวัญ และนำส่งของขวัญดังกล่าวแก่เลขานุการผู้บริหาร เพื่อนำไปเป็นของรางวัลให้แก่พนักงาน หรือบริจาคเพื่อการกุศลตามความเหมาะส
  • เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการในเรื่องความเสี่ยงกับการทุจริตคอร์รัปชั่น กรรมการ  ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัททุกระดับต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังในเรื่องต่อไปนี้

 

  • การรับสิ่งของ/ การให้สิ่งของ หรือผลประโยชน์อื่นใด : กำหนดแนวปฏิบัติไว้ดังนี้
    • การรับสิ่งของ หรือประโยชน์อื่นใด

1)  ห้ามมิให้ผู้บริหาร และพนักงาน ;  รับ ขอรับเรี่ยไร ของขวัญการเลี้ยงรับรอง  การให้บริการ  การสนับสนุนทางการเงิน เงินรางวัลใด ๆ จากคู่ค้า เจ้าหนี้ หรือผู้มีส่วนได้เสียที่ทำธุรกิจกับบริษัท

  • การขอสนับสนุนในรูปเงินหรือสิ่งของ สามารถกระทำได้ในลักษณะองค์กรกับองค์กร  โดยต้องได้รับการลงนามอนุมัติจาก กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม เท่านั้น
  • เว้นแต่ในโอกาสหรือเทศกาลอันเป็นประเพณีนิยมที่พึงปฏิบัติต่อกัน โดยสิ่งของหรือ ประโยชน์อื่นใดนั้นต้องมีราคาหรือมูลค่าการรับไม่เกิน 500 บาทและ/หรือมีความจำเป็นต้องรักษาสัมพันธภาพอันดีระหว่างบุคคล หรือระหว่างองค์กร
  • กำหนดให้ผู้บริหารตั้งแต่ผู้จัดการแผนกขึ้นไป เป็นผู้แทนองค์กรในการรับสิ่งของหรือประโยชน์อื่นใด และนำส่งต่อเลขานุการบริหาร  ภายใน 1  วันทำการนับแต่วันที่ได้รับสิ่งของหรือ ประโยชน์อื่นใด เพื่อดำเนินการตามเกณฑ์ภายในบริษัทฯ ต่อไป
  • ยกเว้น ของชำร่วยในช่วงเทศกาลอันเป็นประเพณีนิยม บริษัทอนุโลมให้พนักงานสามารถรับได้ เช่น ปฏิทิน  พวงกุญแจ สมุดบันทึกฯลฯ ที่มีตราสัญลักษณ์ขององค์กรนั้นระบุไว้  โดยมอบหมายให้ผู้บริหารตั้งแต่ผู้จัดการแผนกขึ้นไป เป็นผู้แทนในการรับมอบ และมีอำนาจในการพิจารณาแจกจ่ายของชำร่วยนั้น ให้แก่พนักงาน
  • เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ บริษัทไม่อนุญาตให้พนักงานหรือบุคคลที่บริษัทมิได้มอบหมายให้เป็นผู้แทนในการรับสิ่งของหรือประโยชน์อื่นใด โดยเด็ดขาด
  • กรณีที่ไม่อาจปฏิเสธได้ และมีความจำเป็นต้องรับไว้ ให้รับของดังกล่าว และรายงานต่อเลขานุการบริหารเพื่อดำเนินการต่อสิ่งของนั้นๆตามความเหมาะสม

 

  • การให้สิ่งของ หรือประโยชน์อื่นใด :
  • การให้สิ่งของ กำหนดให้ในโอกาสเทศกาลอันเป็นประเพณีนิยมที่คนทั่วไปพึงปฏิบัติต่อกัน   หรือปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมที่ไม่สร้างความขัดแย้งทางผลประโยชน์     หรือ ประเพณีที่ไม่มีข้อขัดแย้งต่อกฎหมาย ให้ขออนุมัติจากผู้บังคับบัญชาก่อนดำเนินการโดยบริษัทจะเป็นผู้ดำเนินการจัดหาซึ่งกำหนดราคาหรือมีมูลค่าไม่เกิน  5,000 บาท

2)    เพื่อหลีกเลี่ยงการนำไปสู่การให้สินบน  บริษัทกำหนดให้มีการสำรวจและตรวจสอบความเหมาะสมก่อนดำเนินการเพื่อป้องกันการนำไปสู่การทุจริต  และกำหนดให้ผู้บริหารระดับสูง  เป็นผู้แทนองค์กร ในการมอบสิ่งของหรือประโยชน์อื่นใด

 

  1. การแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน

                กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานมีข้อสงสัยหรือมีหลักฐานว่ามีกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานหรือบุคคลซึ่งกระทำการในนามบริษัทฯ คนใดได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการคอร์รัปชั่น จะต้องรายงานหรือแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนต่อบริษัทฯ ได้ดังนี้

  • กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานสามารถยื่นข้อร้องเรียนได้โดยตรงด้วยตนเอง ด้วยวาจา หรือเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านช่องทาง ดังนี้
    • ผ่านทางโทรศัพท์ 02-291-8888 ต่อ 262 (คุณสุพิชฌาย์  ขจรชัยกุล)
    • ผ่านทาง E-mail : [email protected]
    • ผ่านทาง website ของบริษัท krungthai.co.th
    • ผ่านจดหมายโดยระบุชื่อ และส่งมายัง “ผู้รับแจ้งข้อร้องเรียน” ตามที่อยู่ต่อไปนี้

                              คุณสุพิชฌาย์  ขจรชัยกุล / หัวหน้าตรวจสอบภายใน

                              บริษัท กรุงไทยคาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส จำกัด (มหาชน)

                              455/1 ถ.พระราม 3 แขวงบางโคล่

                              เขตบางคอแหลม  กรุงเทพฯ  10120

  • บริษัทฯ จะเก็บข้อมูลผู้แจ้งไว้เป็นความลับ โดยบริษัทฯ จะใช้ข้อมูลการแจ้งนี้เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานและกำกับการปฏิบัติงานภายใน หรือเปิดเผยตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามคำสั่งศาล และ/หรือ ตามคำสั่งของสำนักงาน ก.ล.ต. หน่วยงานราชการ และ/หรือหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง
  • ผู้แจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนจะได้รับการตอบสนองอย่างจริงจัง และได้รับความคุ้มครองโดยไม่ต้องหวั่นเกรงต่อการใช้อำนาจบังคับบัญชาในทางไม่ชอบหรือการกระทำที่ไม่เป็นธรรม เพื่อตอบโต้การกระทำของผู้แจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียน
  • ผู้แจ้งจะต้องกระทำการโดยสุจริต หากบริษัทฯ พบการแจ้งเบาะแสโดยทุจริต หรือมีเจตนาในการกลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือให้ได้รับความอับอาย ฯลฯ นั้น บริษัทฯ จะดำเนินการตามที่เห็นควรต่อไป

 

  1. การปกป้องดูแลกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน
  • บริษัทฯ ให้ความมั่นใจกับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานว่าจะไม่มีผู้ใดต้องถูกลดตำแหน่ง ลงโทษหรือได้รับผลกระทบใดๆ จากการปฏิเสธการติดสินบน ถึงแม้ว่าการปฏิเสธดังกล่าวจะทำให้บริษัทฯ สูญเสียธุรกิจ หรือพลาดโอกาสในการได้ธุรกิจใหม่ บริษัทฯ เชื่อว่านโยบายไม่ยอมรับการติดสินบนและการคอร์รัปชั่นอย่างสิ้นเชิงจะช่วยสร้างคุณค่าให้แก่บริษัทฯ ได้ในระยะยาว นอกจากนี้บริษัทฯ ไม่ยินยอมให้ผู้ใดมากระทำการข่มขู่ คุกคาม หรือหน่วงเหนี่ยวกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานที่ตั้งใจปฏิบัติตามนโยบายฉบับนี้
  • หากกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานเชื่อว่าตนเองถูกข่มขู่ คุกคาม หรือหน่วงเหนี่ยว ให้แจ้งเบาะแส หรือร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชา หรือแผนกบุคคลโดยทันที และหากยังไม่ได้รับการแก้ไข ให้รายงานผ่านช่องทางการรายงานตามนโยบายฉบับนี้

 

  1. การดำเนินการสืบสวนและบทลงโทษ
    • เมื่อได้รับการแจ้งเบาะแสกรรมการบริหารและคณะกรรมการตรวจสอบจะเป็นผู้กลั่นกรองสืบสวนข้อเท็จจริง
    • ระหว่างการสืบสวนข้อเท็จจริงกรรมการบริหารและคณะกรรมการตรวจสอบอาจจะมอบหมายให้ตัวแทน (ผู้บริหาร) แจ้งผลความคืบหน้าเป็นระยะให้ผู้แจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนได้ทราบ
    • หากการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้วพบว่าข้อมูลหรือหลักฐานที่มีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาได้กระทำการคอร์รัปชั่นหรือทุจริตจริงบริษัทจะให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบข้อกล่าวหาและให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาพิสูจน์ตนเองโดยการหาข้อมูลหรือหลักฐานเพิ่มเติมที่แสดงให้เห็นว่าตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทาอันทุจริตตามที่ได้ถูกกล่าวหา
    • หากผู้ถูกร้องเรียนได้กระทำการทุจริตจริงการทุจริตนั้นถือว่าเป็นการกระทำผิดนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นจะต้องได้รับการพิจารณาโทษทางวินัยจนถึงขั้นให้ออกจากงาน และ/หรือพ้นจากตำแหน่ง และหากการกระทำทุจริตนั้นผิดกฎหมายผู้กระทำความผิดอาจจะต้องได้รับโทษทางกฎหมายทั้งนี้โทษทางวินัยตามระเบียบของบริษัทฯคำตัดสินของคณะกรรมการ (ผู้บริหาร) ถือเป็นอันสิ้นสุด

 

  1. การกำกับติดตามและสอบทาน

            1)  บริษัทฯ จะจัดให้มีการทบทวนนโยบายฉบับนี้เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง (อย่างน้อยปีละครั้ง) โดยพิจารณาถึงสถานการณ์และความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไป และรายงานผลต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อทราบผลการประเมินความเสี่ยง และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิบัติที่ควรมีเพื่อลดความเสี่ยง

            2) ฝ่ายตรวจสอบจะตรวจสอบระบบการควบคุมภายในและกระบวนการต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ และรายงานประเด็นที่ตรวจพบอย่างเร่งด่วน เพื่อให้มั่นใจว่าระบบการควบคุมภายในมีประสิทธิผลในการต่อต้านคอร์รัปชั่น ทั้งนี้จะหารือผลการตรวจสอบร่วมกับบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางการแก้ไขที่เหมาะสม และจะรายงานให้ผู้บริหารระดับสูงและคณะกรรมการตรวจสอบได้รับทราบต่อไป

 ------------------------------------------------------

 จดหมายขอความร่วมมือปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น

 แจ้งเบาะแส การทุจริตคอรัปชั่น